ชุมชนทากาศ ในเทศบาลตำบลทากาศ อำเภอทากาศ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนตลาดที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยและครอบครัว บ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนนี้เป็นร้านค้าที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ความหลากหลายของสินค้าและความคึกคักของชุมชนตลาด ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยในมิติที่หลากหลาย
ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ชุมชนทากาศ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบการร้านค้า และบุคคลที่เกี่ยวข้องในชุมชนให้เข้าใจถึงบทบาทของตนในการเป็นต้นแบบและผู้นำด้านสุขภาวะ การสร้างความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ได้เท่านั้น แต่ยังสร้าง “ภูมิที่ดี” ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาว
แนวคิด “นิเวศสื่อสุขภาวะ” ถูกนำมาใช้ในชุมชนทากาศเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ด้วยเด็กเรียนรู้จากปฎิสัมพันธ์แวดล้อมรอบตัว ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านร่วมกัน
นางสาวนันท์นภัส เนตรสุวรรณ หัวหน้า หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทากาศ กล่าวถึงการดำเนินงาน ว่า โครงการได้รับสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่มwearehappy.องค์กรสาธารณประโยชน์ ทางเทศบาลได้ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ครูปฐมวัย ผู้ปกครองเด็ก ปราชญ์ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากระบวนการกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมให้เด็กเกิดความฉลาดรู้ทางสุขภาพ โดยมีองค์ประกอบการทำงานเพื่อการพัฒนา ดังนี้
- คณะทำงานที่ชัดเจน การสร้างทีมงานจากทุกภาคส่วนในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน ครู นักโภชนาการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนหน่วยงานรัฐ ช่วยสร้างโครงสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
- ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง การอบรมแก่ผู้ปกครองและชุมชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านโภชนาการ เช่น วิธีการเลือกอาหารที่ดีสำหรับเด็ก
- กิจกรรมรณรงค์ในชุมชน เช่น จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเมนูสุขภาพ
ใช้สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดกับสมาชิกชุมชน
- ติดตามพฤติกรรมการบริโภค การเยี่ยมบ้านโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เช่น อสม. และนักโภชนาการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะครอบครัว พร้อมแนะนำการเตรียมอาหารที่เหมาะสม
- ร้านค้าต้นแบบ การยกย่องร้านค้าที่ร่วมส่งเสริมโภชนาการ เช่น การมอบโล่รางวัลและป้ายรับรองร้านค้าสุขภาพ
- การปฏิบัติในครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวเลือกอาหารและขนมที่มีประโยชน์ พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันประสบการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ และการจัดทำปฏิทินเมนูสุขภาพเพื่อเผยแพร่ในชุมชน
- การควบคุมพฤติกรรมการบริโภค ร่วมกันกำหนดกติกา เช่น งดจำหน่ายอาหารที่มีน้ำตาลสูง พร้อมจัดโซนขายอาหารเพื่อสุขภาพในตลาดร่วมกันกำหนดกติกาการจำหน่ายและบริโภคอาหารที่เหมาะสม ทำข้อตกลงร่วมกันในการงดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ขนมหวานที่มีน้ำตาลสูง
บทบาทของครอบครัวและครูปฐมวัย
ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy กล่าวว่า “การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเด็กให้เกิดสุขภาวะ โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ครอบครัว และชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์ของเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำภูมิความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ที่เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาอย่างมีความสุข การรู้เท่าทันในการดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ยังช่วยให้เด็กเกิดภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเอง โดยแต่ละฝ่ายการมีบทบาทร่วมกัน เช่น ครอบครัว: ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกและบริโภคอาหารที่เหมาะสม การส่งเสริมพฤติกรรมการกินของเด็กเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี ครูปฐมวัย: ครูสามารถสอดแทรกความรู้เรื่องโภชนาการผ่านการสอนในห้องเรียน เช่น การเล่านิทาน การทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาหาร และการสนับสนุนเด็กในการเลือกอาหารที่มีประโยชน์
การสอนผ่านกิจกรรมประจำวันในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย
ครูสามารถบูรณาการความรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์และโทษของขนมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น:
1.เล่านิทาน นิทานเกี่ยวกับผลไม้ ผัก และโทษของอาหารที่ไม่ดี สอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับสารอาหารที่จำเป็นให้กับเด็กๆ
2.การเล่นบทบาทสมมติ เช่นจัด “ร้านขายของชำเพื่อสุขภาพ” ให้เด็กสวมบทบาทผู้ขายและผู้ซื้อ เรียนรู้การเลือกอาหารที่ดี
3.กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น วาดภาพอาหารจานโปรดพร้อมคำอธิบายว่าทำไมอาหารเหล่านั้นถึงมีประโยชน์
4.การทำอาหารง่าย ๆ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารว่าง เช่น การทำสลัดผลไม้
การส่งต่อความรู้จากเด็กสู่ครอบครัว
ครูสามารถมอบหมายให้เด็กปฐมวัยถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมาให้ผู้ปกครอง โดย
- ให้เด็กบอกเล่าเรื่องราวอาหารที่มีประโยชน์
- สอบถามพฤติกรรมการซื้อขนมจากผู้ปกครอง เช่น เด็กชอบขอขนมอะไร
- ครูประเมินพฤติกรรมผ่านการสังเกต เช่น เด็กไม่พกขนมกรุบกรอบหรือน้ำหวานมาโรงเรียน
รูปแบบการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านอาหารและโภชนาการผ่านกติกาชุมชน 3 ดีในชุมชนทากาศ จังหวัดลำพูน เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือในชุมชนที่มุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความฉลาดรู้ด้านอาหาร และเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ การเรียนรู้เรื่องอาหารและโภชนาการในเด็กปฐมวัยเป็นมากกว่าแค่ความรู้ แต่คือการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เล็ก แนวทางนิเวศสื่อสุขภาวะช่วยบูรณาการบทบาทของครู ครอบครัว และชุมชนเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพดีในระยะยาว