Picture1

สสส.สนับสนุนแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) กับวิถีชีวิตปกติใหม่  ในยุคโควิด-19

มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ ที่เริ่มต้นจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สู่แนวทางการเป็น พื้นที่ 3 ดี ขยายผลสู่ ครอบครัว สู่ชุมชน  เพราะการเรียนรู้ของเด็กไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียน เท่านั้น นอกห้องเรียนมีแหล่งเรียนรู้มากมาย เด็กๆ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม จากบุคคลใกล้ตัว จากธรรมชาติ การเรียนรู้ไม่อาจหยุดนิ่ง มนุษย์เรียนรู้ตลอดเวลา เป็นศึกษาตลอดชีวิต การเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการ เป็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ชัดเจนตายตัว การเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่จัดให้เด็กได้ คือการเตรียมพื้นที่เพื่อประสบการณ์ การจัดกระบวนการเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

ในช่วงกลางปี 2562 ถึงปลายปี 2563 ที่ผ่าน ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการบูรการมหัศจรรย์ 3 ดี สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กที่ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนัหงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ในเครือข่าย 14 จังหวัดได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.ลำพูน  ภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี จ.นครพนม จ.มุกดาหาร ภาคกลาง จ.เพชรบุรี จ.สุมทรสงคราม  ภาคใต้ จ.สตูล จ.ยะลา จ.นราธิวาส ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถูกสั่งปิดทำการ ตามมาตรการ  “ล็อคดาวน์” เด็กต้องอยู่บ้านตามนโยบายของรัฐ แม้จะอยู่ในพื้นที่ชนบท ที่การระบาดของไวรัสยังไม่เข้มข้น หรือยังไม่มีผู้ติดเชื้อในระดับหมู่บ้าน ตำบล ของกลุ่มเป้าหมาย การคืนชีวิตปกติให้กับเด็ก และครอบครัว  ให้ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น  ผ่านกิจกรรม ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านสื่อสร้างสรรค์ที่เด็กได้หยิบ จับสัมผัส ด้วยตัวเอง ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญ  การร่วมกันค้นหา และส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตในภาวะวิกฤตเป็นหนทางสำคัญสำหรับการพัฒนาเด็ก

 ทางโครงการฯ ได้มีกิจกรรม บูรณาการชุมชนสามดี ส่งเสริมให้เกิด ครอบครัวสามดี ที่มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับลูกและเด็กๆ บริเวณรอบๆ บ้านกระจายไปตัวอยู่ในพื้นที่เป็นหลายๆ จุด ให้เด็กได้มีพื้นที่เล่น เรียนรู้ พ่อ แม่ได้มาพูดคุยมีปฎิสัมพันธ์กันที่ลานบ้านของบ้านคนใดคนหนึ่งที่มีความพร้อมมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอที่เด็กจะมาวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ มีการจัดมุมไว้ให้เด็กได้มาพบปะ กัน กลุ่มละ 4-5 คน โดยที่เด็กสามารถมาด้วยตัวเองได้ หรือว่าขี่จักรยานคันเล็กมาเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ซึ่งเป็นไป ตามหลักการของการมีพื้นที่สร้างสรรค์ใกล้บ้านที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากกิจกรรมการเล่นสำหรับเด็กๆ แล้ว การมีกิจกรรมในครอบครัว เช่น การทำงานบ้าน ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้  ชวนกันทำอาหาร เหล่านี้ก็ช่วยส่งเสริมให้เด็กและครอบครัว มีความใกล้ชิดผูกพัน มีกิจกรรมร่วมกันทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีของคนในครอบครัว  เหล่านี้เป็นวิถีสุขภาวะของครอบครัวที่ เกิดขึ้นได้จากต้นทุนของพื้นที่ 

ขอยกตัวอย่างพื้นที่ ม.15 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตพนม จ.นครพนม  มีครอบครัวที่จัดให้บ้านตัวเองเป็นพื้นที่เล่น เรียนรู้สำหรับเด็ก  ด้วยการเปิดลานบ้านให้เด็กๆ ในชุมชนเข้ามาใช้พื้นที่ เล่นสนุก ทำกิจกรรมร่วมกัน  จัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก มาทำกิจกรรมทางกายร่วมกัน  การรวมตัวแบบนี้ที่ไม่ใช่การรวมตัวคนหมู่มาก มีการจัดการโดยผู้ปกครองมาร่วมเป็นอาสาสมัครในการดูแล การใช้พื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ  การเพิ่มพื้นที่ดี นี้ทำให้เด็กได้มีกิจกรรมทางกายสอดคล้องกับพัฒนาการของช่วงวัย และยังมีการจัดให้เกิดพื้นที่สามดีในชุมชน ให้เด็กได้เข้าถึงง่าย ช่วยคลี่คลาย ความเครียด จากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของเด็กและครอบครัวที่เด็กต้องเรียนรู้จากปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแดวล้อมรอบตัว

การส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดูแลเด็กต้องเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ อย่างมีส่วนร่วมในการจัดกระทำให้เกิด  ศูนย์ 3 ดี ครอบครัว 3 ดี และชุมชนสามดีร่วมกัน  ให้ทุกที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ที่เข้าถึงได้ง่าย ปลอดภัย ดังนี้

บทบาทของครอบครัว ร่วมสร้าง ครอบครัว 3 ดี มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับลูก เป็นครอบครัวที่ใช้กระบวนการสื่อหรือพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับเด็กในครอบครัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของ ศพด. เช่น เป็นวิทยากร ให้ความรู้ หรือร่วมลงมือปฏิบัติ ในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งอย่างสม่ำเสมอตลอดโครงการ  สามารถบอกเล่า/อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัวได้ และครอบครัวร่วมจัดพื้นที่สร้างสรรค์ในบ้าน เช่น มุมหนังสือ มุมเล่นอิสระ มุมการเรียนรู้ต่างๆ การปลูกผัก เศรษฐกิจพอเพียง หรือพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกายส่งเสริมให้เด็กๆได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในบรรยากาศของครอบครัว

บทบาทของชุมชน  เป็นขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ของเด็ก คือชุมชน 3 ดี ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการดูแลเด็ก ร่วมกันพัฒนา ให้เกิดเป็นพื้นที่ดี เป็นชุมชนที่ใช้สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดีอย่างเหมาะสม มีผลให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นชุมชนที่เอื้อต่อการดูแลเด็กอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ต้นทุนภูมิทางสังคมที่มีของชุมชนนั้นๆ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนนั้นๆ เช่น มีแหล่งเรียนรู้/กระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กในชุมชน มีประเด็นขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะในชุมชนที่ส่งผลต่อเด็ก และครอบครัวร่วมกัน 

บทบาทของกลไกระดับท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนวาระพื้นที่ 3 ดี  ให้เกิดเป็นพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมให้มีสื่อ กิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจัดสรรพื้นที่ให้เด็กมีส่วนร่วม  ให้คนทุกวัยสามารถเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่ที่จัดให้ โดยเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างเสริมศักยภาพในตนเอง เหล่านี้จะให้เกิดขึ้นขยายออกไปทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ          

สายใจ คงทน  โครงการบูรณาการมหัศจรรย์ 3 ดีสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็ก
กลุ่มwearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์

Tags: No tags

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ