Picture16

นำร่องพื้นที่อำเภอธาตุพนม ส่งเสริมบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในการร่วมสร้างนิเวศ 3 ดี

สสส. กลุ่มwearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับคณะทำงาน เครือข่ายพระกลางทุ่งสามดี ผลักดันให้เกิดการพัฒนากลไกการดูเด็กโดยสานพลังร่วมกันของกำนันผู้ใหญ่บ้าน 

โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) จัด เวทีเสวนา “บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในการมีส่วนร่วมนิเวศ 3 ดี เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย”ร่วมกับภาคีเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จาก ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต.โนนกุง อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ต.ตาเบา อ.ประสาท จ.สุรินทร์  ต.นิคมพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง และเทศบาลตำบลทากาศ จ.ลำพูน โดยแนวคิดของการพัฒนาเด็กนั้นต้องขยับจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าสู่ครอบครัวและชุมชน ด้วยว่า บุคคลแวดล้อม สถานที่ และสิ่งต่างๆรอบตัวเด็กล้วนเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กทั้งสิ้น  แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะรอบตัวเด็กที่มีกลไกของผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามามี่ส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กร่วมกัน

นายจักรพงษ์  ปทุมโกย  นายอำเภอธาตุพนม จ.นครพนม กล่าวว่า “แนวทางการขับเคลื่อนให้เกิด สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี กับเด็กและครอบครัว ในท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน เป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กติดจอ  ตอบโจทย์ หมู่บ้านยั่งยืน โดยการพัฒนาเด็กให้ได้มีพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยเห็นชอบให้บ้านหนองกุดแคน บ้านโพนแพง ต.พระกลางทุ่ง เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานพัฒนาให้เกิดชุมชนสามดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) และจะร่วมส่งเสริมให้เกิดสามดีในหมู่บ้านทุกแห่งในตำบลธาตุพนม  

          นอกจากนี้ยัง ส่งเสริมเป็นนโบายให้พื้นที่ของ 12 ตำบลของอ.ธาตุพนม ได้มีพื้นที่ 3 ดี สำหรับการพัฒนาเด็ก ครอบครัว โดยพื้นที่สื่อและภูมิดีนั้น จะส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตเด็กเกิดความเท่าทัน มีความฉลาดรู้  เพราะสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้ในอำเภอของเรา”

          นางสาวนันท์นภัส เนตรสุวรรณ  หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษากองการศึกษา เทศบาลตำบลทากาศ จ.ลำพูน กล่าวว่า “ข้อสรุปของทากาศ ฐานะผู้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการนิเวศ 3 ดี สู่ชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยเห็นว่า พื้นฐาน หรือต้นทุนด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นในแต่ท้องที่มีความแตกต่างกัน มีความเข้มแข็งหรือจุดเด่นในการพัฒนาที่แตกต่างกัน สามารถนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนให้เด็กมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ อย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชน ท้องถิ่นต่างก็ต้องเข้ามาเป็นนิเวศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับเด็ก การส่งเสริมให้เกิดกลไกการดูแลเด็กโดยชุมชนมีส่วนร่วมนั้น เป็นทิศทางที่ทำให้กระบวนการของการพัฒนาเด็กเป็นไปอย่างยั่งยืนในชุมชน”

          นายสมบัติ ทองไมล์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.8 บ้านหนองกุดแคน  กล่าวว่า “การได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ สามดีให้กับเด็กๆ เริ่มจากตัวเองมีลูกเล็ก แต่เมื่อร่วมกันทำงานพัฒนาก็เห็นว่าไม่เพียงแต่ลูกของเราที่มีความสุข เด็กๆคนอื่นๆที่เข้ามาใช้พื้นที่ มาทำกิจกรรมร่วมกับลูกก็เกิดความสุขด้วยเช่นกัน”

          นายหงส์สา มะนาตย์ ผู้ใหญ่บ้านม.7 บ้านโพนแพง กล่าวว่า “แนวคิด 3 ดี นิเวศ 3 ดี  ของเรา หมายถึงการรักษาวิถีชีวิตอันดีงามของชุมชนให้ยั่งยืน ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้แสดงออกในทางที่ดี ส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย มีความเข้าใจในวิถีชีวิตของเด็กปฐมวัย โดยคนในชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูและไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามาในชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

นางปิ่นแก้ว จิตโคตร  ครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองกุดแคน ผู้เป็นคนริเริมจุดประกาย ส่งต่อความมหัศจรรย์ ของสื่อสร้างสรรค์ ที่ขยายจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปสู่ครอบครัวและชุมชนในที่สุด กล่าวว่า “นิเวศ 3 ดี ของพระกลางทุ่ง มีถึง 20 ฐานกิจกรรมสร้างสรรค์ ทุกพื้นที่ล้วนเป็นความต้องการของชุมชน เราเปรียบเด็กคือต้นไม้ ต้นไม้มหัศจรรย์ต้นนี้ ผลิดอก ออกใบ ออกผล ที่สมบูรณ์ได้ ต้องมาจากรากฐานที่มั่นคง ให้ความแข็งแรงลำต้นที่แข็งแรง มาจากครูผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน ซึ่งพระกลางทุ่งเด่นเรื่องพื้นที่และความต้องการชุมชนต่อยอดเตรียมขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั้งตำบล”

ทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำสื่อ การทำพื้นที่สร้างสรรค์ หรือการดึงเอาปราช์ญชาวบ้าน ที่อยู่ในชุมชน มาร่วมทำกิจกรรมต่างๆด้วยกัน นั้น  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน มี ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทุกมิติ อันได้แก่ กาย จิต สังคม ปัญญา สร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตเด็ก เยาวชน และคนในชุมชน รู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม  มีความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ และมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยสามารถลดการเล่นโทรศัพท์มือถือได้

Tags: No tags

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ