โนนกุก

บ้านโนนกุง ใช้วัฒนธรรมชุมชนส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  

“การสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยบนฐานของชุมชน เมื่อเด็กได้เติบโตขึ้นจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองและชุมชนได้อย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก”

กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนโพธิ์  ชุมชนบ้านโนนโพธิ์ และชุมชนบ้านโนนกุง อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย  สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บูรณาการแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้บนฐานของชุมชน

นางสาวเสาวณีย์ ผางทอง ผู้รับผิดชอบโครงการมหัศจรรย์นิเวศสามดีเพื่อเด็กปฐมวัยในชุมชนบ้านโนนโพธิ์และบ้านโนนกุง อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นำเอาประสบการณ์การใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) บูรณาการในการจัดประสบการณ์สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยผ่านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเด็กปฐมวัย โดยรับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่อยู่แวดล้อมรอบตัวเด็ก ตั้งแต่ ครู ผู้ดูแลเด็ก ผู้นำชุมชน ครูภูมิปัญญา และผู้ปกครอง ที่เห็นความสำคัญและเข้าใจในแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ที่จะสามารถช่วยพัฒนาเด็กที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้เหมาะสมกับวัย เพราะสุขภาวะดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยให้เด็กในวัยนี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นคุณค่าในรากเหง้าของตนเอง เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะและมีความสุข

  การจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้กับครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มจากในห้องเรียนเล็กๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เด็กได้สัมผัส ได้เล่นของเล่นพื้นบ้านต่างๆ เช่น ม้าก้านกล้วย เดินกะลา ล้อไม้ เป็นต้น เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นสนุก ได้ใช้จินตนาการ เคลื่อนไหวร่างกาย เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวัยเดียวกันและกับผู้เฒ่าผู้แก่ ในขณะที่เด็กเกิดการพัฒนา ผู้สูงอายุก็เกิดความภาคภูมิใจ ยิ่งเด็กได้ฟังเรื่องเล่าของสิ่งที่พวกเขากำลังเล่นอยู่ด้วยก็ยิ่งทำให้เด็กเกิดความตื่นตาตื่นใจ ตัวอย่าง “กะลอ” หรือ “เครื่องเคาะไม้ไผ่” ซึ่งอดีตนั้นใช้สำหรับให้สัญญาณเสียงเพื่อแจ้งเหตุ เตือนภัย หรือเรียกประชุม โดยใช้การตีหรือเคาะที่มีจังหวะแตกต่างกันในการส่งสัญญาณเสียงไปถึงคนในชุมชน เครื่องเคาะไม้ไผ่ส่งสัญญาณเสียงในอดีตกลายมาเป็นของเล่นที่ช่วยฝึกพัฒนาการให้กับเด็กได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน เด็กได้ฝึกการฟังเพื่อแยกความหมายของเสียง เด็กได้ฝึกการเคาะตามจังหวะต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณ เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของแขนและมัดเล็กของนิ้วมือ

  การจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนตนเอง ทำให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน การที่เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จริงผ่านการเล่น และกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ตามบริบทและสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน ชุมชนบ้านโนนโพธิ์และบ้านโนนกุงเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ภูไท คนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่พริก การที่เด็กได้มีประสบการณ์ตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน จะทำให้เด็กมีทักษะที่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข

นายเกรียงศักดิ์ อาบแสน ผู้ใหญ่บ้านโนนโพธิ์ ม.15 และนายประคองสิน บุญมี ครูภูมิปัญญาและที่ปรึกษาโครงการฯ อยากเห็นการพัฒนาเด็กในทุกย่างก้าวทำให้ทุกย่างก้าวของเด็กเป็นการเรียนรู้ที่สามารถยึดโยงกับภูมิปัญญาของท้องถิ่นได้ ทำให้เด็กเกิดความสนุกและอยากมาเรียนในทุกๆ วัน เด็กได้ลงมือทำเองทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเองมีพัฒนาด้านสติปัญญาที่ดี คนในชุมชนต้องช่วยกันพัฒนาสถานที่เล่นให้กับเด็ก เด็กและผู้ปกครองช่วยกันทำพื้นที่เรียนรู้ในพื้นที่บ้านของตนเอง มีการจัดกิจกรรมศิลปะเดือนละ 1 ครั้งที่ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน และมีสื่อสมัยใหม่มาช่วยสร้างความเข้าใจเพื่อขยายแนวคิดนิเวศ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี)  ในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

การที่เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้บนฐานของชุมชน ไม่ใช่แค่เรื่องในชุมชนท้องถิ่นที่เด็กจะได้เรียนรู้ แต่จะช่วยให้เด็กเกิดภูมิรู้ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ประสบการณ์และความรอบรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวิถีชีวิตที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จะทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะ เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมและยุคสมัย

Tags: No tags

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ