สายใจ คงทน กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์
สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นการรู้เท่าทันสื่อ เป็นการเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์สำคัญที่ได้รับ เพื่อให้เกิดทักษะ และสุดท้ายเกิดความรู้ความเข้าใจ ครูควรจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้ อย่างมีความสุข เกิดสุนทรียะในการรับสื่อ ทั้งนี้จัดประสบการณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับของพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ซึ่งหลักสำคัญในการสอนแบบเท่าทันสื่อ คือ “การสร้างกระบวนการเรียนรู้ มิใช่ การเรียนรู้จากสื่อเพียงอย่างเดียว” โดยวิธีการเรียนรู้สื่อในชั้นเรียนนั้น พอจะมีหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้
- ใช้การเรียนรู้ร่วมกันเป็นกระบวนการกลุ่ม
เนื่องจากว่า การเรียนรู้เท่าทันสื่อนั้นไม่สามารถเรียนรู้เพียงลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องจัดให้เป็นการเรียนรู้ผ่านการสนทนา แลกเปลี่ยน ซักถาม พูดคุยกันในกลุ่ม เพื่อให้เด็กๆ ได้มองเห็นความคิดที่แตกต่างกัน โดยครูเป็นผู้สร้างคำถามชี้ชวน กระตุ้นการพูดคุย ให้เด็กๆ ตอบคำถาม และกล้าแสดงออก - เรียนรู้แบบกระบวนการมีส่วนร่วม
สำคัญที่สุดเด็กต้องมีส่วนร่วมในการพูด ฟัง และโต้ตอบ อย่างเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม ครูต้องหมั่นคอยสังเกตเด็กบางคนชอบฟัง บางคนชอบพูด บางคนชอบเล่า ต้องรู้จักลักษณะเด่นของเด็กและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับหัวเรื่องที่ครูกำลังสอน ครูต้องกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เมื่อเห็นว่าเด็กไม่ค่อยพูดต้องหันไปกระตุ้นด้วยคำถามปลายเปิดให้เด็กได้แสดงความรู้สึกออกมา เป็นการกระจายการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของเด็กๆ - เรียนรู้ผ่านบทสนทนา หรือคำพูด
การเรียนรู้เท่าทันสื่อเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ทางด้านความคิดเป็นหลัก ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด มีเพียงความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น การพูดสนทนาแลกเปลี่ยนจะช่วยให้เกิดมุมมองต่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย การพูด จะแสดงออกถึงความคิดและการรับรู้ของเด็กต่อเรื่องราวต่างๆ ครูต้องเลือกสรรคำถามที่จะช่วยให้เด็กได้โต้ตอบแสดงความคิด ความรู้สึกต่อเพื่อนคนอื่นๆ - ครูมีบทบาทเป็นผู้จัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
การเรียนรู้เท่าทันสื่อไม่เหมือนกับการสอนแบบดั้งเดิม การสอนเท่าทันสื่อไม่ใช่การสอนการใช้สื่อ ที่“สื่อ”เป็นเพียงองค์ประกอบในการยกตัวอย่างเพื่อให้เด็กเห็นอย่างเป็นรูปธรรมเพียงเท่านั้น แต่การสอนเท่าทันสื่อเป็นกระบวนการ บทบาทของครูจึงเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ สร้างสถานการณ์สมมติในการเรียนรู้โดยการเลือกใช้สื่อประเภทต่างๆที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทเรียน และความสนใจของเด็กๆ สร้างบรรยากาศให้สนุกสนาน ตื่นเต้น มีอารมณ์ร่วม การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการสนทนา แลกเปลี่ยน และครูช่วยเน้นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยของเด็ก พร้อมกับส่งเสริมให้เด็กๆนำเสนอความคิดของกลุ่มเป็นการสะท้อนกลับของข้อมูลจากการเรียนรู้ - การประเมินผลการเรียนรู้ไม่ควรให้เป็นคะแนน หรือดี ไม่ดี
การวัดผลจากการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ว่าเด็กมีความเข้าใจและเรียนรู้ได้ดีเพียงใดนั้น ไม่ควรให้เป็นคะแนน หรือประเมินว่าดี ไม่ดี เพราะการเรียนรู้เป็นกระบวนการประกอบสร้างของความคิดของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันในความเข้าใจ เพราะการเรียนรู้เท่าทันสื่อเป็นกระบวนการคิดแบบนามธรรม ควรใช้วิธีการประเมินจากการสังเกตพฤติกรรม ความก้าวหน้าของการเข้าใจ การโต้ตอบ แทนการให้คะแนนเชิงปริมาณ - ส่งเสริมให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง
ครูควรชื่นชม และสร้างความภาคภูมิใจในเด็กด้วยคำชม เพราะในกระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อไม่มีผิด ถูก สุดท้ายแล้วเราต้องการให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ ความต้องการของตนเอง สะท้อนความคิดออกมาเป็นคำพูดได้ กระบวนการเท่าทันสื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง อาจไม่ได้วัดผลได้ภายในระยะเวลาสั้น จึงไม่ควรคาดหวังว่าเด็กจะเข้าใจในขั้นวิเคราะห์ อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ขอเพียงให้เด็กได้เข้าใจในระดับที่สามารถโต้ตอบ แสดงออกถึงความรู้สึกต่อเรื่องราว หรือสถานการณ์ พอที่จะเลือกได้ มีหลักในการนำไปปฏิบัติในการใช้ชีวิตประจำวันได้ การส่งเสริมให้เด็กได้รับความภาคภูมิใจ จะก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดี และความสุขต่อการเรียนรู้ - ต้องมีการเตรียมความพร้อมของเนื้อหาและสื่อประกอบการสอน
ครูต้องทำการบ้านในการเลือกสรรสื่อ หรือประเด็นที่อยู่ในความสนใจใกล้ตัวของเด็ก มีความสอดคล้องกับเนื้อหาการเรียนรู้ที่เด็กๆควรรู้ เพื่อนำมาเป็นตัวอย่าง หัวข้อในการพูดคุย การยกตัวอย่างที่เห็นจริง ประกอบการสนทนาแลกเปลี่ยน จะทำให้เด็กได้เกิดกระบวนการคิดและตัดสินใจเกิดการมีส่วนร่วมในเนื้อหา กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนจากเรื่องใกล้ตัวเด็กๆ - ครูต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง
กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงลำพังในชั้นเรียนเนื่องเพราะว่าสื่ออยู่ในบริบทที่แวดล้อมตัวเด็ก ครูควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าขณะนี้เด็กอยู่ในกระบวนการของการเรียนรู้เพื่อการเท่าทัน ขอให้ผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการส่งเสริมพฤติกรรมของเด็ก ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับการสอนในชั้นเรียน อาจใช้จดหมายข่าว สื่อสารถึงแนวคิด สรุปสั้นๆถึงประเด็นเนื้อหาการสอนแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ เช่น ขณะนี้เด็กกำลังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้เรื่องการแยกคุณค่าอาหารจากสีสัน หน้าตา และประโยชน์ที่ได้รับ ขอให้ผู้ปกครองช่วยชี้แนะเด็กๆดังนี้ (รายละเอียดของเนื้อหาที่ครูกำลังสอนเด็กสั้นๆ) หรือ ตอนนี้เด็กกำลังเรียนรู้เรื่องการใช้เวลาหน้าจอ ขอให้ผู้ปกครองช่วยจัดสรรเวลา และเพิ่มกิจกรรมทางเลือก เช่น เล่านิทาน ปลูกต้นไม้ ฯลฯ พร้อมกับทำแบบบันทึกพฤติกรรมที่ให้ผู้ปกครองช่วยสังเกตพฤติกรรมของเด็กเมื่ออยู่บ้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กได้
กระบวนการสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครองสำหรับการส่งเสริมเรื่องเท่าทันสื่อในเด็กปฐมวัย
การรับรู้สื่อของเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบใดก็ตาม เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อหน้าจอ จำเป็นจะต้องมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ คอยดูแล แนะนำ และรับชมในระยะเวลาพอเหมาะ พอควร
สื่อที่เหมาะสม สำหรับเด็กวัยนี้ จึงเป็นการใช้หนังสือภาพ หรือหนังสือนิทาน ที่เป็นไปเพื่อกระตุ้นส่งเสริม ให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ เพิ่มทักษะทางภาษาที่มากขึ้น หรือ หากเป็นสื่อหน้าจอ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ ต่อการใช้สื่อ หรือรับสื่อในเด็กระดับปฐมวัยเป็นพิเศษ โดยไม่ควรให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพังโดยขาดการชี้แนะ ดังนี้
- สร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กๆ
เริ่มจากพ่อ แม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการรับ สื่อ เพราะพ่อแม่รับสื่อแบบไหน ลูกก็มีแนวโน้มที่จะรับ สื่อแบบนั้น เช่น พ่อ แม่ ชอบดูละคร ลูกก็ชอบดูด้วย พ่อแม่ชอบฟังเพลง ลูกก็จะฟังไปด้วย ถ้าพ่อ แม่ ใช้เวลาในการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ลูกก็จะชอบอ่านหนังสือไปด้วย ดังนั้นในการพูดคุยและตั้งคำถามกับเด็กจากการอ่านหนังสือ หรือการดูสื่อ ควรเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้ตอบคำถาม ฝึกการคิด พ่อ แม่ ให้คำแนะนำถึงสิ่งต้องห้าม สิ่งที่ถูกต้อง และข้อเท็จจริงต่างๆ ผ่านการซักถาม พูดคุยเกี่ยวกับสื่อที่รับรู้กับลูก เมื่อลูกมีความพร้อมก็จะสามารถแยกแยะถึงสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม - การเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างวินัยในเด็ก
การเป็นแบบอย่างเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเด็กปฐมวัยจะเน้นการเรียนรู้จากการเลียนแบบ ดังนั้นพ่อ แม่เองต้องมีวินัยที่ดี ให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง เช่น การกำหนดเวลาหน้าจอ การใช้เวลาเล่านิทานอ่านหนังสือด้วยกัน โดยเด็กเล็กพ่อ แม่ เป็นผู้ตั้งกฎ ควบคุมเพื่อให้เกิดวินัยให้ลูก แต่เมื่อลูกโตขึ้น ลูกต้องเป็นคนควบคุมตัวเองตามวัยขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การปลูกฝังเรื่องความมีวินัย ให้รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเอง เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ นั้นจะทำให้เด็กๆ ไม่ตกเป็นทาสของสื่อ - ต้องสร้างวินัยเชิงบวก และชมเชย
เมื่อเด็กๆ สามารถปรับปรุงพฤติกรรม หรือมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ควบคุมตนเองได้ระดับหนึ่ง พ่อ แม่ ต้อง ชมเชย เมื่อลูกทำได้แล้ว จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่ดี เกิดความภูมิใจมีประสบการณ์ของความเชื่อมั่นการได้รับการยอมรับ และความสุข ซึ่ง เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องชมเชย ให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการแสดงพฤติกรรมของเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ - จัดสรรเวลาให้มีการพูดคุย/อ่านหนังสือด้วยกันทุกวัน
การพัฒนาทักษะด้านภาษาของเด็ก ทักษะด้านการอ่าน เป็นเรื่องสำคัญที่ พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถทำได้ในครอบครัว โดยหลังจากการอ่านหนังสือนิทานแต่ละเรื่องจบแล้ว ต้องร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่เด็กอ่าน ซักถาม พูดคุย ก็จะยิ่งพัฒนาทักษะในการอ่านหนังสือของเด็กมากขึ้นด้วย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยก็สามารถสร้างลูกให้เก่งได้ด้วยการอ่านหนังสือ ยิ่งรีบฝึกให้เด็กๆรักการอ่าน ก็จะยิ่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆอยากได้ยินเสียงจากคนรอบข้าง การที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยสร้างความคุ้นเคยระหว่างเด็กกับหนังสือ เป็นวิธีที่ทั้งง่าย ประหยัด และได้ประโยชน์สูงสุด
การใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญ เมื่อพ่อแม่ ใช้ความรักความผูกพันอย่างต่อเนื่อง มีเวลาเพียงพอ ไม่ว่า สื่อร้ายจะรูปแบบไหน ก็ไม่สามารถทำอันตรายลูกได้